จิตวิญญาณมนุษย์

ลักษณะที่สำคัญของมนุษย์ทุกคนคือวิญญาณแห่งการใช้เหตุผลและเป็นอมตะ วิญญาณอยู่เหนือทุกสรรพสิ่ง มีแหล่งกำเนิดและที่พำนักแท้จริงในโลกแห่งจิตวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า วิญญาณอยู่ “นอกเหนือไปจากสภาพของวัตถุทั้งหลาย”

“ความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์บรรลุผลด้วยพลังอำนาจของวิญญาณ” พระอับดุลบาฮากล่าวว่าวิญญาณ “สามารถค้นพบสภาพความเป็นจริงของสรรพสิ่งต่างๆ เข้าใจลักษณะเฉพาะของสรรพสิ่งและหยั่งรู้ความลึกลับทั้งหลายของการดำรงอยู่วิทยาศาสตร์ ความรู้ศิลปะ ความอัศจรรย์ สถาบันการค้นพบ และอุตสาหกิจล้วนมาจากสติปัญญาของวิญญาณแห่งการใช้เหตุผล”

ถ้าความเป็นจริงของมนุษย์เปรียบเสมือนดั่งกระจกเงา ดังนั้นศักยภาพของมนุษย์สามารถถูกเปิดเผยให้เห็นได้ต่อเมื่อกระจกไม่มัวหมองเท่านั้น และหันเข้าหาแหล่งกำเนิดของแสงสว่าง กระจกเงาแห่งจิตวิญญาณของเราได้รับการขัดเงาโดยการสวดมนต์อธิษฐาน ศึกษาและนำหลักพระธรรมคำสอนไปปฏิบัติ เสาะแสวงหาความรู้ พยายามที่จะพัฒนาความประพฤติของเรา และรับใช้เพื่อนมนุษย์

เมื่อความตายมาถึงเราในโลก วิญญาณจะแยกจากร่างกาย และเจริญก้าวหน้าต่อไปในหนทางมุ่งสู่ความสมบูรณ์ชั่วนิรันดร์

“เมื่อวิญญาณเต็มไปด้วยชีวิตแห่งจิตวิญญาณแล้วก็จะนำมาซึ่งการออกผลงอกงามและกลายเป็นต้นไม้แห่งสวรรค์”

การอุทิศตน

การกระทำต่างๆ ที่เป็นการอุทิศตน คือจุดกำเนิดอันเป็นรากฐานของชีวิตทางศาสนา โดยอาศัยการกระทำเหล่านี้ บุคคลและชุมชนทั้งหลายจะสามารถเสริมสร้างสัมพันธภาพซึ่งเป็นอัตลักษณ์พิเศษเฉพาะที่ดำรงอยู่ระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับมนุษย์ เสริมสร้างให้มีการสมัครสมานกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างต่อเนื่องและเพิ่มทวีมากยิ่งขึ้นต่อไป เงื่อนไขของการเชื่อมโยงกันเช่นนี้ จะนำความมีชีวิตชีวามาสู่การหล่อเลี้ยงบำรุงมิตรภาพทั้งหลายที่จะทำให้สังคมสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างบุคคลและองค์ประกอบต่างๆ ของชุมชนกับสถาบันทั้งหลาย การอธิษฐาน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ของชีวิตของจิตวิญญาณและสุขภาพพลานามัย โดยอาศัยการปฏิบัติสิ่งนี้เราจึงสามารถสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าและแสดงความรักต่อพระองค์รวมถึงวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์ได้ ความสามารถในการทำสมาธินี้ถือเป็นลักษณะอันโดดเด่นที่เป็นความพิเศษเฉพาะอย่างหนึ่งของมนุษย์ แท้จริงแล้ว พระธรรมลิขิตบาไฮนั้นอธิบายไว้ว่า ความก้าวหน้าของมนุษย์จะเป็นไปไม่ได้หากปราศจากการไตร่ตรองและการทำสมาธิ นอกจากนี้ ยังมีการถือศีลอดและการแสวงบุญที่ถือเป็นการปฏิบัติสองอย่างที่มีลักษณะของการอุทิศตน โดยเป็นบทบาทหน้าที่อันสำคัญในวิถีชีวิตทางศาสนานับตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในอดีตที่ผ่านมาช้านานแล้ว การทำงาน ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นการปฏิบัติบูชาอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน ถ้าหากว่าการทำงานนั้นเป็นสิ่งที่กระทำด้วยดวงจิตแห่งการอุทิศเพื่อการรับใช้

ย้อนกลับ

พระบาฮาอุลลาห์ และพระปฏิญญาของพระองค์

อ่านต่อไป

พระผู้เป็นเจ้าและสิ่งสร้างสรรค์ของพระองค์